สพฐ. จีทูจี ม.ศิลปากร อบรม Active Learning เชิญ ผูเชี่ยวชาญจาก พว.เสริมความรู้

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เปิดเผยว่า จากการอบรมโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง “การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) เพื่อพัฒนาทักษะครูในศตวรรษที่ 21 โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่…

Home / NEWS / สพฐ. จีทูจี ม.ศิลปากร อบรม Active Learning เชิญ ผูเชี่ยวชาญจาก พว.เสริมความรู้

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารของสถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) เปิดเผยว่า จากการอบรมโครงการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรื่อง “การพัฒนาการจัดการเรียนรู้แบบผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง (Active Learning) เพื่อพัฒนาทักษะครูในศตวรรษที่ 21

โดยคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 28-29 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นการจัดกิจกรรมเพื่อเดินตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ที่เน้นให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้เป็นแบบ Active Learning

ซึ่ง พว.ได้ดำเนินการมานานแล้ว จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ร่วมสร้างความเข้าใจให้ครูปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน ว่า การสอนแบบ Active Learning เป็นวิธีที่ไม่ยากถ้ามีความเข้าใจ และไม่ต้องใช้เวลาหรือการลงทุนมาก แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดแนวตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นมา ซึ่งเริ่มได้ทันที

Active Learning เป็นกระบวนการสร้างความรู้ที่สอดคล้องกับเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ทั้งของยูเนสโก และโออีซีดี ที่ได้กำหนดวิสัยทัศน์ถึง ปี 2030 ว่า การเรียนรู้นั้นเด็กจะต้องสร้างองค์ความรู้เองในมิติของ ความรู้ ค่านิยม คุณค่า และ ทักษะ

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดจากกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นครูซึ่งมีความมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนอยู่แล้ว เมื่อมีความเข้าใจและสามารถปรับเปลี่ยนวิธีสอนได้ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพของผู้เรียนได้ทันที

“จากที่ พว.ร่วมทำการวิจัย กับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ พบว่า เวลาเพียง 2 ปี สามารถแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพผู้เรียนได้จริง

เด็กเป็นนวัตกร สามารถสร้างผลงานได้มากมายตั้งแต่ระดับประถมศึกษา เป็นการสร้างห้องเรียนแบบใหม่ และยังแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยสามารถแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้

เราสามารถเป็นผู้นำการศึกษาได้ ถ้าเรามีเป้าหมายชัดเจนและเดินได้ถูกวิธี เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำขณะนี้ คือ ต้องทำให้ครูเข้าใจจริง ๆ ว่า Active Learning คืออะไร และต้องเดินแบบไหน

ซึ่งในการอบรมนอกจากทำความเข้าใจแล้วเราต้องพาครูทำเพื่อให้ครูได้เห็นวิธีการจัดกิจกรรม เพราะการที่เราจะอบรมครูให้ไปสอนเด็กด้วยกระบวนการจัดกิจกรรมแบบ Active Learning

ครูต้องผ่านการอบรมด้วยกระบวนการ Active Learning ด้วย หมายความว่าครูก็ต้องลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่แท้จริงและจะได้สามารถนำไปต่อยอดได้” ดร.ศักดิ์สินกล่าว

ผศ.ดร.มาเรียม นิลพันธุ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เป็นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)กรุงเทพมหานคร เขต 1 และ สพม.กทม.2

ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ(พว.) และ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีเป้าหมายสำคัญ เพื่อทำความเข้าใจและปรับเปลี่ยนกระบวนการจัดการเรียนการสอนของครู เนื่องจากเราตระหนักว่า ผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต้องเปลี่ยนแปลง

โดยเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้เรียนต้องเรียนรู้ด้วยตนเองได้ สร้างนวัตกรรมได้ คิดแก้ปัญหาได้ มีความคิดสร้างสรรค์ สื่อสารได้ ซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้กระบวนการจัดการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนด้วย

โดยครูเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่ต้องเปลี่ยนแปลงการสอน และในการเปลี่ยนแปลงการสอนวิธีหนึ่งที่สำคัญ คือ การเรียนการสอนแบบ Active Learning ซึ่งหลายคนอาจจะเรียกว่าการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ การเรียนการสอนเชิงรุก การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง

“เป้าหมายสำคัญของเรียนการสอนแบบ Active Learning คือ การออกแบบการจัดการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างครูและนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดยครูต้องปฏิบัติด้วย

นอกจากนี้บทบาทของครูที่เป็นผู้สอนก็จะกลายเป็นผู้โค้ชหรือผู้ให้คำปรึกษา เป็นพี่เลี้ยง เป็นเมนเตอร์ แต่ทั้งนี้ครูต้องมีความเข้าใจในการออกแบบการสอน หรือ นำเทคนิควิธีการใหม่ ๆ เกี่ยวกับการสอนมาใช้เพื่อการสร้างนวัตกรรม มีทักษะอาชีพ มีทักษะการแก้ปัญหา

ซึ่ง ณ วันนี้ครูส่วนใหญ่มีความเข้าใจ Active Learning แล้ว เพราะครูปฏิบัติอยู่แล้ว แต่ครูอาจไม่รู้ว่าเรียกว่าอะไร และอาจจะไม่รู้ว่าจะนำเทคนิคเล่านี้ไปบูรณาการการสอนอย่างไรเท่านั้น” ผศ.ดร.มาเรียมกล่าว