ข่าวภูมิภาค ท่าอากาศยานตรัง บ้านพัง บ้านร้าวจากเครื่องบิน เครื่องบิน

ผอ.ท่าอากาศยานตรัง ชี้แจงกรณีบ้านแตกร้าวจากเครื่องบินขึ้นลง

ผอ.ท่าอากาศยานตรัง ชี้แจงกรณีบ้านแตกร้าวจากเครื่องบินขึ้นลง เผยให้ชาวบ้านทำหนังสือ ถ่ายภาพประกอบ ส่งไปทางกรมท่าอากาศยาน เพื่อเป็นส่วนประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย จากกรณีปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านหัวสนามบินตรัง หมู่ 12 ต.โคกหลอ อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 30 ครัวเรือน…

Home / NEWS / ผอ.ท่าอากาศยานตรัง ชี้แจงกรณีบ้านแตกร้าวจากเครื่องบินขึ้นลง

ผอ.ท่าอากาศยานตรัง ชี้แจงกรณีบ้านแตกร้าวจากเครื่องบินขึ้นลง เผยให้ชาวบ้านทำหนังสือ ถ่ายภาพประกอบ ส่งไปทางกรมท่าอากาศยาน เพื่อเป็นส่วนประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

จากกรณีปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านหัวสนามบินตรัง หมู่ 12 ต.โคกหลอ อ.เมือง จ.ตรัง จำนวน 30 ครัวเรือน รวมประมาณ 100 คน รวมทั้งคนแก่ และเด็กจำนวนมาก ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาการขึ้นลงของสนามบินตรัง ทำให้บ้านเรือนแตกร้าวจนได้รับความเสียหายตลอดระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี

หลังจากสนามบินตรังมีการเพิ่มเที่ยวบินเป็นวันละประมาณ 10 เที่ยวบิน โดยที่ทางท่าอากาศยานตรังไม่เคยเข้าช่วยเหลือ ประกอบกับทางกรมท่าอากาศยาน เตรียมขยายสนามบินตรังให้ใหญ่ขึ้นรองรับเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 40 เที่ยวบิน ชาวบ้านจึงหวั่นว่าปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรง เพราะขณะนี้ทุกหลังคาเรือนต้องเสียค่าซ่อมแซมมาแล้วจำนวนมาก บางหลังต้องทิ้งไม่มีเงินซ่อมแซม ประกอบกับเกิดปัญหาทางสภาพจิตใจย่ำแย่

ล่าสุดวันที่ 30 มี.ค. 62 พันจ่าเอกเมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวกล่าวว่า ทางท่าอากาศยานก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านหัวสนามบินแล้ว รวมประมาณ 30 ครัวเรือน หรือเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ ว่าได้รับผลกระทบจากการขึ้นลงของเครื่องบิน ตัวบ้านมีรอยแตกร้าว ทางสนามบินเองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ ให้ชาวบ้านทำหนังสือ ถ่ายภาพประกอบ ส่งไปทางกรมท่าอากาศยาน เพื่อเป็นส่วนประกอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

และทางบริษัทศึกษาก็รับเรื่องไปแล้วด้วย เตรียมศึกษาว่าได้รับผลกระทบจากปัญหาการขึ้นลงของเครื่องบินจริงหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน แต่ในส่วนของท่าอากาศยาน ซึ่งดูแลสนามบินตรังก็ต้องดูเรื่องความเดือดร้อนของชาวบ้านในเรื่องนี้ด้วย

ส่วนที่ชาวบ้านบอกว่าขอให้ทางกรมท่าอากาศยานตรังทำการเวนคืนที่ดินไปด้วย พร้อมจะย้ายออก เพราะหากเยียวยาปัญหาก็ยังมีอยู่ และทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการขยายสนามบินตรังสำเร็จ พันจ่าเอกเมืองชล วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า ในการเวนคืนที่ดินจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และต้องอยู่ในกรอบระเบียบของทางราชการ

แต่ปัญหานี้เมื่อชาวบ้านมีความเดือดร้อน ก็ต้องไปศึกษาหลักเกณฑ์ว่า สามารถที่จัดซื้อที่ดิน เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้หรือไม่ ก็ต้องส่งเรื่องให้บริษัทที่ศึกษาผลกระทบนำข้อมูลไปตรวจสอบว่า ทั้งหมดได้รับผลกระทบจากสนามบินจริงๆหรือไม่ ถ้าอยู่นอกเกณฑ์ที่ทางระเบียบราชการจะจัดซื้อได้ ก็ต้องดูว่าจะช่วยบรรเทาหรือว่าเยียวยาได้อย่างไรบ้าง ตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะซื้อได้หรือไม่

ส่วนที่เวทีประชุมศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมล่าสุด พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเหนือพื้นที่ศึกษา พันจ่าเอกเมืองชล วงศ์สุวรรณ ผอ.ท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า ความจริงโดยรอบสนามบินจะต้องศึกษาทั้งหมด แต่เรื่องความจำเป็นที่จะต้องจัดซื้อที่ดิน เพื่อขยายโครงการมีความจำเป็นที่จัดซื้อได้ขนาดไหน และหากตรงนี้ได้รับผลกระทบเชื่อมโยงพื้นที่ก็ต้องนำไปตรวจสอบ

ขณะนี้กรมท่าอากาศยานรับข้อมูลไปแล้ว ต้องรอให้กรมพิจารณา แต่ทราบจากทางบริษัทที่ศึกษาฯว่า พื้นที่ดังกล่าวทางบริษัทไม่ได้เข้าไปวัดไปตรวจวัดแรงสั่นสะเทือน เพราะอยู่นอกกรอบพื้นที่จะใช้ขยาย แต่ถ้าชัดเจนว่าได้รับผลกระทบจากสนามบินก็ต้องไปดูเพิ่มเติม แต่ยังสรุปไม่ได้ ต้องรอกรมท่าอากาศยาน

ส่วนทางด้านชาวบ้านก็วิงวอนยืนยันอีกครั้งนี้ ขอให้ทางท่าอากาศยานตรังช่วยเวนคืนที่ดินไปด้วย เพราะหากใช้วิธีเยียวยาก็ต้องนำเงินซ่อมแซม ซึ่งก็ซ่อมแซมกันอยู่แล้ว แต่ปัญหาก็คงเดิม และหากขยายสนามบินใหญ่ขึ้น เครื่องบินเยอะขึ้น และลำใหญ่ขึ้น ก็ปัญหาบ้านแตกร้าวก็ยิ่งรุนแรงหนักขึ้น ที่ผ่านมาตั้งแต่มีสนามบินมาชาวบ้านไม่เคยได้รับความช่วยเหลือเลย ยิ่งขยายจะยิ่งรุนแรงชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ทั้งคนแก่และเด็กนอนไม่ได้

ทั้งนี้ สาเหตุของปัญหาที่ชาวบ้านจำเป็นต้องออกเรียกร้องให้มีการเวนคืนที่ดินไปด้วย เพราะเจ้าหน้าที่สำรวจชุดแรกไม่ได้เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นี้เลยว่าชาวบ้านเดือดร้อนมานานแล้ว เพราะไม่ได้ลงสำรวจจริง แต่มาคิดเอาเองว่าพื้นที่ทั้ง 19 ไร่ ตรงนี้เป็นที่ราชพัสดุ พอทางชาวบ้านยื่นหนังสือทักท้วงไป เขาก็มาดู แต่ในวันประชุม ปรากฏว่าเขาไม่มีคำตอบให้ชาวบ้านบอก แต่ว่าพื้นที่นี้อยู่นอกเหนือเขตเวนคืน และไม่มีงบประมาณ ไม่มีรองกฎหมายรองรับ

ถือว่าเป็นความผิดพลาดของบริษัทศึกษาฯผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้เข้าสำรวจให้ครอบคลุม ทั้งนี้ ภาพของบริษัทคือทำงานผิดพลาด แต่ชาวบ้านจะต้องมาทนอยู่กับสภาพปัญหาที่แก้ไม่ได้ และยืนยันทางออกเดียว คือ การเวนคืนไป ทั้งนี้ ถ้าไม่มีความชัดเจนใน 1 เดือน จะยื่นหนังสือร้องเรียนในระดับที่สูงขึ้นไป

ทางด้านนางณีวอนน้ำตาคลอว่า ทุกคนไม่อยากย้ายออก เพราะอยู่มานานมากเป็นที่ดินมรดกตกทอดกันมา และหากย้ายออกก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน และต้องแยกย้ายกับญาติพี่น้องที่เคยอยู่รวมกัน แต่ก็ต้องยอมไปถ้ามีการเวนคืน