มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง แยกขยะ

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ผุดศูนย์เรียนรู้จัดการสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประกอบด้วย แนวทาง “ใช้น้อย” คือ ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และ “ปล่อยน้อย” คือลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางดังกล่าว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สามารถลดความเข้มของการใช้พลังงาน (หรือสัดส่วนของพลังงานที่ใช้ต่อรายได้)…

Home / NEWS / มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ผุดศูนย์เรียนรู้จัดการสิ่งแวดล้อม

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ประกอบด้วย แนวทาง “ใช้น้อย” คือ ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล และ “ปล่อยน้อย”

คือลดการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยแนวทางดังกล่าว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ สามารถลดความเข้มของการใช้พลังงาน (หรือสัดส่วนของพลังงานที่ใช้ต่อรายได้) ร้อยละ 36 จากปี 2557 และเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น ร้อยละ 4.5 ในปี 2561

สำหรับการลดการปล่อยมลพิษ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ มีเป้าหมายที่จะเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ในปี 2563 โดยการชดเชยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มูลนิธิฯปล่อยทั้งหมด ด้วยคาร์บอนเครดิตที่จะได้ในปี 2563

จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในพื้นที่โครงการพัฒนาดอยตุงฯ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมด เกิดได้จากความร่วมมือ ของพนักงาน และชาวบ้านในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเรื่องการบำบัดน้ำเสียแบบธรรมชาติช่วยธรรมชาติ และการจัดการขยะแบบไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบ ตามแนวคิด “Circular Economy” หรือ “ธุรกิจหมุนเวียน” ซึ่งบริหารจัดการโดย ดร.ธนพงศ์ ดวงมณี วิศวกรอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

ศูนย์จัดการขยะ :

ศูนย์จัดการขยะและสำนักงานสิ่งแวดล้อมจะรับขยะจาก โครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้แก่ ส่วนสำนักงาน โรงงาน ห้องอาหาร และส่วนท่องเที่ยว ที่ช่วยแยกจากต้นทางมาแล้วส่วนหนึ่ง

จากนั้นนำมาแยกต่อให้ถูกต้องตรงตามการใช้ประโยชน์ เพื่อไม่ให้มีขยะไปสู่บ่อฝังกลบ โดยโครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2555 ปริมาณขยะที่ไปสู่บ่อฝังกลบลดลงเรื่อยๆ จนในปี ปี 2561 ถือว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จสามารถบริหารจัดการจนไม่มีขยะสู่บ่อฝังกลบได้ทั้งหมด หรือ Zero Waste to Land Fill ด้วยวิธีการจัดการขยะทั้ง 6 ประเภท ดังนี้

  1. ขยะย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร เศษผัก ภาชนะย่อยสลายได้ ฯลฯ จัดการโดยนำไปทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยไส้เดือน น้ำหมัก EM ผลิตหนอนแมลงวันลาย และอาหารสัตว์
  2. ขยะขายได้ เช่น แก้วจานพลาสติก กระดาษ โลหะ ฯลฯ จัดการโดยคัดแยก รวบรวม แล้วติดต่อให้บริษัทรับซื้อของเก่ามารับซื้อไป
  3. ขยะเปื้อน เช่น พลาสติกที่เปื้อนอาหาร ฯลฯ จัดการโดยนำมาล้าง ปั่นแห้ง แล้วนำไปจำหน่าย
  4. ขยะพลังงาน เช่น เศษด้าย เศษกระดาษ วัสดุเหลือทิ้ง กะลาแมคคาเดเมีย ฯลฯ จัดการโดยนำไปเผาเป็นพลังงานความร้อนเพื่อใช้ในโรงงาน
  5. ขยะอันตราย เช่น กระป๋องสเปรย์ ถังสี ถ่านไฟ แบตตารี่ ฯลฯ จัดการโดยการจัดเก็บไม่ให้รั่วไหล เตรียมนำส่งบริษัทรับกำจัดขยะอันตรายที่ได้มาตรฐาน
  6. ขยะห้องน้ำ เช่น ทิชชู่ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อม ฯลฯ จัดการโดยนำไปกำจัดในเตาเผาขยะมลพิษต่ำ

นอกจากนี้ ศูนย์จัดการขยะยังประกอบด้วย ห้องเก็บขยะขายได้ เครื่องอัดพลาสติก, ห้องเก็บขยะอันตราย และเครื่องบดย่อยหลอดไฟ

การแยกขยะ:

รถขยะมาจากด้านหน้า ขยะมาเป็นถุงๆ ซึ่งจะใช้คนแยกประมาณ 2-3 คน แยกเป็น 6 ประเภท ขยะขายได้ เราแยกละเอียดเป็น พลาสติกประเภทต่างๆ กระดาษขาว กระดาษสี แก้วใส แก้วสี กระป๋องอลูมิเนียม กระป๋องเหล็ก ถ้าเป็นขยะเปื้อน พวกพลาสติกเปื้อน จะต้องล้างในเครื่องล้างขยะ แล้วไปปั่นแห้งด้านนอก ก่อนที่จะเอาไปอันก้อน แล้วขายต่อ

การจัดการขยะย่อยสลายได้ : เช่น เศษอาหาร เศษผัก และวัสดุเหลือทิ้ง เช่น เปลือกกาแฟเชอร์รี่ และหญ้าในแนวกันไฟ เราเอามาเป็นอาหารหมู (60 ตัน) หนอนแมลงวันลาย (60 กก.) (โปรตีน 40%)

ใช้เป็นอาหารสัตว์ ปุ๋ยไส้เดือน 10 ตัน ฉี่ไส้เดือน (2,500 ลิตร) ปุ๋ยหมัก (7 ตัน) รายได้รวม 436,600 บาทต่อปี ส่วนปุ๋ยประมาณ 2 ตัน และฉี่ไส้เดือน จำนวนหนึ่ง เรานำมาใส่แปลงผัก ผลิตผักได้ 2 ตัน 28 ชนิด ส่งห้องอาหารดอยตุง มูลค่าประมาณ 76,000 บาทต่อปี

โดยการจัดการขยะวิธีนี้ ถึงแม้ว่าจะแพงกว่าการจัดการขยะแบบทิ้งในบ่อฝังกลบ (3,500 vs 500 บาทต่อตัน) แต่มีประโยชน์ คือ เกิดการจ้างงาน, ไม่สร้างปัญหามลพิษจากขยะที่มีจำนวนมากขึ้น และยังสามารถพัฒนาขยะบางอย่างไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

ระบบบำบัดน้ำเสีย :

ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานย้อมสีเส้นด้ายและโรงงานกระดาษสา มีต้นแบบมาจาก โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อม แหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใช้วิธี ธรรมชาติ ช่วย ธรรมชาติ ใช้พืช มาช่วยบำบัดน้ำเสีย ร่วมกับ การเติมอากาศ ด้วยกังหันชัยพัฒนา น้ำเสียจากโรงงาน เข้าระบบ ประมาณ 10,000 ลบ.ม. ต่อปี (ขนาดเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล ที่มีน้ำท่วม 1 เมตร)

มีค่า pH BOD COD SS และสี ที่เกินมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรม แต่ยังไม่พบปัญหาเรื่องโลหะหนัก โดยน้ำเสียถูกปรับสภาพเบื้องต้น เพื่อลดค่า pH BOD SS จากนั้น ผ่านบ่อไร้อากาศ เพื่อแตกโมเลกุลสี ลดโลหะหนัก BOD SS จากนั้นผ่านบ่อเติมอากาศ ที่มีพืชปลูกอยู่ 5 ชนิด ได้แก่

กก แฝก ธูปฤาษี พุทธรักษา และผักตบชวา ที่ปลูกในแพ ปล่อยให้ลอยน้ำ และปลูกในรางพืช โดยรากพืชจะทำหน้าที่สำคัญในการเอาออกซิเจนจากอากาศลงมาในน้ำ และเป็นที่อยู่ของจุลินทรีย์ บ่อเติมอากาศนี้ทำหน้าที่ในการลด ค่า N P BOD SS

หลังจากผ่านบ่อเติมอากาศ น้ำเสียจะถูกเก็บไว้ที่บ่อเก็บน้ำเสียที่บำบัดแล้ว เพื่อรอปั๊มไปรดน้ำต้นไม้ในบริเวณโรงงาน โดยปีที่ผ่านมาเราใช้น้ำที่บำบัดแล้วไป 500 ลบ.ม. จากผลตรวจน้ำทิ้ง จะเห็นว่าผ่านมาตรฐานน้ำทิ้งอุตสาหกรรมทุกค่า ยกเว้นค่าสี ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ในปี 2561 ขณะนี้เรากำลังทดลองหลายๆวิธี เพื่อแก้ปัญหานี้ เช่นใช้ถ่าน ใช้เคมี เช่น O3

ข้อดีของการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีนี้ คือทำให้เราประหยัดค่าเติมอากาศไปได้ 3 เท่า เมื่อเทียบกับระบบที่เติมอากาศด้วยเครื่องกลอย่างเดียว

เตาชีวมวลโรงงานกระดาษสา ระบบเตาชีวมวลได้รับสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรในการติดตั้งจาก โครงการปรับปรุงพลังงานแก่โครงการพระราชดำริ โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ซึ่งได้ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI)

มาติดตั้งให้โดยมีแแนวคิดการนำกะลาแมคคาเดเมีย เศษกระดาษสา เศษผ้า เศษด้าย มาเป็นเชื้อเพลิงในการต้มน้ำร้อน ทดแทนการใช้ LPG ของโรงงานกระดาษสา และโรงงานย้อมสี ซึ่งในปัจจุบัน สามารถลดการใช้ LPG ได้ 55%